มทส. แถลงข่าวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการจุลทรรศน์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 31 พร้อมโชว์ตราสัญลักษณ์ มทส. บนเส้นผมขนาดเล็กที่สุดในโลก

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) แถลงข่าวการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการจุลทรรศน์แห่งประเทศไทย   ครั้งที่ 31 พร้อมโชว์ศักยภาพของศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดทำตราสัญลักษณ์ มทส. บนเส้นผมขนาดเล็กที่สุดในโลกเพื่อเป็นที่ระลึกการจัดงาน อธิการบดีเผย ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทส. พร้อมรองรับงานวิจัยระดับสูงเพื่อพัฒนาประเทศ

DSC_8584

 วันนี้ (27 มกราคม 2557) เวลา 13.00 น. อาคารเครื่องมือ 10 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เป็นประธานการแถลงข่าวการเป็นเจ้าภาพ    จัดประชุมวิชาการจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 31 (MST31)ในระหว่างวันที่ 29 – 31 มกราคม 2557              ณ โรงแรมเดอะกรีนเนอรี่ รีสอร์ท เขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยมีนักวิชาการด้านจุลทรรศน์จากสถาบันต่าง ๆ           ทั่วประเทศเข้าร่วมเสนอผลงานกว่า 150 คน และเพื่อเป็นที่ระลึกในการจัดการประชุมนี้ ทางมหาวิทยาลัย ได้จัดทำ ตราสัญลักษณ์ มทส. ขนาดเล็กเป็นพิเศษ สลักลงบนเส้นผม โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Focused Ion Beam หรือ FIB ซึ่งเป็นเครื่องมือที่โฟกัสลำไอออน สร้างลวดลายลงบนเส้นผม หรือชิ้นงานอื่นๆ ได้ โดยมีความละเอียดในการกวาดภาพในระดับนาโนเมตร ซึ่งทำให้เครื่องมือชนิดนี้เป็นที่แพร่หลายในการเรียนการสอน การวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยีในปัจจุบัน โดยตราสัญลักษณ์ มทส. ที่สลักลงบนเส้นผมนี้มีขนาด 7×10 ตารางไมโครเมตร ซึ่งเล็กกว่าความกว้างของเส้นผมราว 10 เท่า (รูปที่ 1) สำหรับการถ่ายรูปตราสัญลักษณ์ มทส. ขนาดเล็กเป็นพิเศษที่สลักบนเส้นผมนี้ ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Field Emission Scanning Electron Microscope หรือ    FE-SEM ซึ่งเป็นกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด ประสิทธิภาพสูง โดยอุปกรณ์ชนิดนี้สามารถมีกำลังขยายได้สูงถึง หนึ่งล้านเท่า สามารถใช้มองดูโครงสร้างของวัสดุในระดับนาโนเมตรได้

1

 ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า เปิดเผยว่า “ห้องปฏิบัติการจุลทรรศน์ของ มทส. ได้ถูกจัดตั้งขึ้นในศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อรวมทรัพยากรในการสนับสนุนการศึกษาและวิจัย โดยเฉพาะเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงเข้าไว้ด้วยกัน ให้ได้ประโยชน์สูงสุด โดยในปี พ.ศ. 2538 มทส. ได้ร่วมกับสมาคมจุลทรรศน์แห่งประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการจุลทรรศน์แห่งประเทศไทยขึ้นที่ มทส. โดยในการจัดประชุมในครั้งนั้นได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างดี และในปี 2557 มทส.ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานดังกล่าวอีกครั้ง ในโอกาสนี้ จึงได้จัดทำ ตราสัญลักษณ์ มทส. ขนาดแล็กที่สุดในโลก     สลักลงบนเส้นผม เพื่อเป็นที่ระลึกในการจัดงาน

อธิการบดี มทส.กล่าวด้วยว่า “จากการที่ มทส. เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแห่งแรกของประเทศ และเป็นต้นแบบแห่งการสร้างนวัตกรรมหลายด้าน อาทิ แนวคิดในการบริหารทรัพยากรแบบรวมบริการประสานภารกิจ เพื่อใช้ทรัพยากรทุกประเภทให้เกิดประโยชน์สูงสุด เกิดความคล่องตัวในการบริหารงาน ทำให้มหาวิทยาลัยสามารถบริหารจัดการ จัดหาเครื่องมือ และอุปกรณ์ต่างๆที่ทันสมัย เพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอน การวิจัยระดับสูงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการให้บริการวิชาการแก่หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานของมหาวิทยาลัยที่เป็นผู้ดูแลเครื่องมือ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยสำหรับรองรับภารกิจดังกล่าว ในรอบปีที่ผ่านมา มทส. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล ภายใต้โครงการ DPL ทำให้สามารถจัดหาเครื่องมือที่ทันสมัย มาใช้ในการเรียนการสอน การวิจัย และ การบริการวิชาชีพ โดยส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มครุภัณฑ์กล้องจุลทรรศน์ประสิทธิภาพสูงชนิดอื่น ๆ อีก อาทิ

Transmission Electron Microscope (TEM) หรือ กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องผ่าน มีกำลังขยายได้สูงถึง 2,500,000 เท่า ซึ่งสามารถมองเห็นการจัดเรียงตัวของอะตอมในโครงผลึกชนิดต่างๆได้

Laser Scanning Confocal Microscope (LSCM) หรือ กล้องจุลทรรรศน์แบบคอนโฟคัล ซึ่งใช้แสงเลเซอร์ในการสแกนสร้างภาพ และ มีกำลังแยกแยะมากกว่ากล้องจุลทรรศน์ที่ใช้แสงทั่วไป โดยสามารถสร้างภาพสามมิติ ของเซลล์ หรือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กได้

Atomic Force Microscope (AFM) หรือ กล้องจุลทรรศน์แรงอะตอม สามารถถ่ายภาพบนพื้นผิวที่มีขนาดเล็ก โดยสามารถมีกำลังแยกในระดับอะตอมได้ นอกจากนี้เครื่องมือชนิดนี้ ยังมีความสามารถสร้างลวดลายลงบนพื้นผิวเรียบบนชิ้นงาน ด้วยความละเอียดในระดับนาโนเมตรได้

ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัยจะสามารถรองรับงานวิจัยจากคณาจารย์ นักศึกษาบัณฑิตศึกษาและนักวิจัยจากหน่วยงานภายนอก ได้มากกว่า 300 คนต่อปี” อธิการบดีมทส. กล่าวในที่สุด

อนึ่งศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (The Center for Scientific and Technological Equipment) ได้จัดตั้งขึ้นมาพร้อมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยอยู่ภายใต้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัย ภายใต้หลักการบริหารจัดการแบบ “ รวมบริการ ประสานภารกิจ ” เป็นหน่วยงานส่งเสริมวิชาการอันเกี่ยวข้องกับการจัดบริการห้องปฏิบัติการเพื่อรองรับด้านการสอนภาคปฏิบัติการ สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาของคณาจารย์ และบริการวิชาชีพให้แก่หน่วยงานภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชน เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 เพื่อรองรับการเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกจนถึงปัจจุบัน สำหรับกลุ่มเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทส. เปิดให้บริการวิเคราะห์และทดสอบ แก่ นักเรียน นักศึกษา นักวิจัย หน่วยงานภาครัฐ และ เอกชน ภายในประเทศ สามารถเข้ามาขอใช้บริการ หรือร่วมใช้งาน เพื่อทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการร่วมใช้ทรัพยากรอันมีค่าของประเทศ โดยผู้สนใจขอรับบริการ ติดต่อ ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

Website: cste.sut.ac.th

Responses are currently closed, but you can trackback from your own site.

Comments are closed.


Hit Counter provided by
technology news