You are here: Home > บทความเซรามิก > Silk Screen Printing for Ceramic

Silk Screen Printing for Ceramic(30,065 views)

กฤษดา  ศรีรักษ์

ฝ่ายห้องปฏิบัติการวิศวกรรม 2   ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ฯ     มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

Email : tou@sut.ac.th

1. บทนำ

ปัจจุบันการตกแต่งผลิตภัณฑ์เซรามิกมีเทคนิคการตกแต่งได้หลายวิธี  การใช้รูปลอกเซรามิกนั้นเป็นกระบวนการหนึ่งที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมเซรามิก  อันเนื่องมาจากความสวยงามและรวดเร็วในการผลิต  ซึ่งรูปลอกเซรามิกนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น  3  ประเภท  ได้แก่  รูปลอกเซรามิกชนิดใต้เคลือบ   รูปลอกเซรามิกชนิดในเคลือบ และรูปลอกเซรามิกชนิดบนเคลือบ ซึ่งแต่ละประเภทล้วนมีความสวยงาม ประโยชน์ใช้สอย    รวมทั้งกระบวนการผลิตที่แตกต่างกันไป

รูปที่ 1 ผลิตภัณฑ์เซรามิกที่ตกแต่งด้วยรูปลอกเซรามิก : ภาพประกอบจาก www.diytrade.com

บทความนี้จะกล่าวเฉพาะรูปลอกเซรามิกชนิดบนเคลือบ โดยเนื้อหาจะประกอบด้วยความรู้ทั่วไป  วัสดุอุปกรณ์   และขั้นตอนการผลิต สำหรับเนื้อหานั้น  ได้เรียบเรียงและอธิบาย โดยเน้นหลักการพื้นฐานของ Silk  Screen  Printing  for Ceramic  เป็นสาระสำคัญ   ซึ่งจะใช้ภาพประกอบเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจง่าย


1. ความรู้ทั่วไป

รูปลอกเซรามิกมีกระบวนการผลิตมาจากการพิมพ์ตะแกรงไหม ( SILK  SCREEN  PRINTING  )  ซึ่งเป็นกระบวนการพิมพ์ที่ทำให้สีพิมพ์ผ่านฉากกั้น ( SCREEN ) ไปปรากฏเป็นภาพที่แผ่นรองรับ   เช่นเดียวกับวิธีสเตนซิล ( STENCIL ) ที่ใช้สีพ่น ฉีด ทา หรือระบายผ่านฉากที่เจาะออกไป  แล้วไปปรากฏที่แผ่นรองรับ  วิธีการเช่นนี้  ภาพที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะเดียวกับภาพต้นฉบับทุกประการไม่กลับซ้ายขวาเหมือนการพิมพ์ไม้ ( WOOD CUT )   การพิมพ์ผิวนูน ( RELIEF )  การพิมพ์ร่องลึก  ( INTAGLIO )  หรือการพิมพ์วิธีอื่น ๆ  อีกหลายวิธี

รูปที่ 2 การพิมพ์แบบสเตนซิล : ภาพจาก banksyforum.proboards.com

การพิมพ์ผ่านฉากแม่พิมพ์ แต่เดิมสร้างจากวัสดุที่เจาะให้ทะลุเพื่อสร้างภาพ เรียกว่าการพิมพ์แบบสเตนซิล( STENCIL ) เรื่อยมา วัสดุที่เป็นแบบแต่เดิมใช้กระดาษที่ค่อนข้างแข็งได้พัฒนามาเป็นไม้ โลหะและพลาสติก เทคนิคเป็นไปอย่างง่าย ๆ แต่ใช้ได้อย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในงานด้านพาณิชย์ศิลป์ เช่น การพิมพ์ตัวหนังสือ หรือเครื่องหมายลงบนหีบห่อพัสดุที่เป็นสินค้าส่งออก แต่วิธีการทำสเตนซิลมีขอบเขตจำกัดของรูปแบบ ไม่อาจสร้างภาพหรือลวดลายที่มีความละเอียด ประณีตมาก ๆได้ เช่น ภาพลายเส้น( VECTOR ) ภาพที่ต้องการแสดงความคมชัด ( HARD EDGE ) หรือแสดงรอยแปรง ( BRUSH STROKES ) ซึ่งนิยมทั้งในงานพาณิชย์ศิลป์และศิลปะ

รูปที่ 3 การพิมพ์ไม้ : ภาพจาก valwebb.wordpress.com

ระบบการพิมพ์ผ่านฉากพิมพ์ได้รับความนิยม เมื่อมีการนำเอาผ้าไหม ( SILK ) มาเป็นฉาก ( SCREEN ) โดยใช้ยางปาดสี ( SQUEEGEE ) ลากให้ผ่านช่องว่างของเส้นไหมที่มีเนื้อละเอียดเป็นพิเศษ ผ้าไหมจะกรองสีให้ผ่านออกไปอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ภาพที่ผ่านการพิมพ์วิธีนี้มีสีที่เรียบคมชัดเป็นพิเศษ ทั้งยังสามารถพิมพ์ออกมาได้จำนวนมากตามที่ต้องการ ผ้าไหมที่นำมาเป็นฉากกั้นนั้นแต่เดิมเป็นผ้าไหม ( SILK ) แต่เนื่องจากเส้นไหมยืดขยายตัวง่าย ปัจจุบันจึงนิยมหันมาใช้ไนลอน ( NYLON ) หรือใยสังเคราะห์ ( POLYESTER ) แต่ก็ยังนิยมเรียกว่า SILK SCREEN ไม่เรียก NYLON SRCEEN หรือ POLYESTER SCREEN

การพิมพ์ตะแกรงไหมเป็นการพิมพ์ที่ใช้ผ้าไหม ผ้าใยสังเคราะห์หรือผ้าไนลอนขึงบนกรอบไม้หรือกรอบโลหะแล้วสร้างภาพให้เกิดขึ้นบนผ้า โดยเปิดช่องว่างบนผ้าให้เป็นลวดลายต่าง ๆ ตามต้องการ ให้มีลวดลายเหมือนกับต้นฉบับที่เป็น POSITIVE การสร้างภาพให้เกิดขึ้นบนผ้าไหมทำได้หลายวิธี ตั้งแต่วิธีพื้นฐานง่าย ๆ เช่น ใช้กาวทาป้องกันไม่ให้สีผ่านหรือด้วยวิธีการตัดฟิล์ม แล้วนำมาเคลือบติดบนผ้าไหม ไปจนถึงการถ่ายแสงด้วยวิธีใช้กาวอัด การใช้แผ่นฟิล์มรวมกับการอัด งานที่นิยมพิมพ์ด้วยตะแกรงไหมมีหลายประเภท เช่น โปสเตอร์ การ์ด นามบัตร ส.ค.ส . งานโฆษณา พิมพ์ผ้าพลาสติก เซรามิก สติ๊กเกอร์ วงจร อิเลคโทรนิกส์ ฯลฯ

2. วัสดุอุปกรณ์

2.1 สีบนเคลือบ ( Over glaze Color ) เป็นสีที่ใช้สำหรับตกแต่งบนผิวของผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการเผาเคลือบแล้ว เมื่อตกแต่งเสร็จนำไปเผาซ้ำ เพื่อให้สีหลอมละลายและยึดติดแน่นกับผิวของน้ำเคลือบ ที่อุณหภูมิประมาณ 800 องศาเซลเซียล

2.2 น้ำมันประสาน ( Medium ) มีลักษณะเป็นของเหลวข้น ๆ  สีใส    ใช้ผสมสีบนเคลือบเมื่อแห้งแล้วไม่ละลายน้ำ      เป็นสารที่ช่วยยึดสี  ให้คงรูปร่างและลวดลายไว้

2.3  ฟิล์มเคลือบผิวหน้า ( Cover coat ) มีลักษณะเป็นของเหลวข้น ๆ มีสีเหลือง ใช้เป็นฟิล์มเคลือบผิวหน้าของรูปลอกหลังจากพิมพ์สีเรียบร้อยแล้ว ลักษณะของฟิล์มเคลือบผิวหน้าจะไม่ละลายน้ำ ตัวฟิล์มที่ทำหน้าที่ยึดสีให้คงรูปร่าง หรือลวดลายหรือตำแหน่งของลวดลายไว้ โดยฟิล์มนี้ยึดติดเป็นเนื้อเดียวกับสี เพื่อให้ความสามารถลอกรูปลอกหรือลวดลายที่สกรีนไว้บนกระดาษออก เพื่อนำไปติดผลิตภัณฑ์ได้ โดยมีลวดลายเหมือนเดิม


2.4  กระดาษรูปลอกน้ำ ( Decalcomania Paper ) เป็นกระดาษหนาประมาณ 60-80 ปอนด์ ด้านบนที่ใช้งานจะเคลือบกาวไว้ จึงมีลักษณะเหนียวๆ ส่วนด้านล่างเป็นกระดาษผิวเคลือบมัน ไม่เหนียว เพื่อให้สามารถวางซ้อนกันได้ ทั้งก่อนพิมพ์ และหลังพิมพ์รูปลอก

2.5  ภาพต้นแบบ ( Art Work ) ทำได้ทั้งบนกระดาษขาว กระดาษไข แผ่นฟิล์ม แผ่นฟิล์มลิท โดยเลือกใช้ให้เหมาะสมกับภาพหรือลวดลาย

2.6  บล็อกสกรีนพร้อมขึงตะแกรงไหม ควรใช้ผ้าไหมเบอร์ 90 – 120


2.7  น้ำมันล้าง ( Cleaner ) ใช้สำหรับล้างอุปกรณ์ในการพิมพ์

2.8  อุปกรณ์อื่นๆ อาทิเช่น กาวอัด น้ำยาไวแสง ไม้ปาดสกรีนพร้อมยางปาด แท่นสกรีน กาวสเปรย์ ไดร์เป่าผม เครื่องชั่งหรือถ้วยตวง ภาชนะสำหรับผสมสี เตาเผา เป็นต้น

3. ขั้นตอนการผลิต

แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนดังนี้

3.1 การผลิตต้นแบบ การผลิตต้นแบบนั้นสามารถผลิตได้หลากหลายวิธีการ ในที่นี้จะยกตัวอย่างการผลิตโดยใช้สติ๊กเกอร์เป็นวัสดุกั้นแสง เพื่อให้เข้าใจหลักการโดยง่าย

3.1.1  ออกแบบลวดลายลงบนกระดาษ โดยแยกส่วนที่ต้องการให้เกิดสี( ส่วนที่ระบายสีดำ ) และส่วนที่ต้องการให้เป็นช่องว่าง ( Space ) อย่างชัดเจน

3.1.2  พ่นกาวสเปรย์ลงบนแผ่นสติ๊กเกอร์และนำกระดาษที่ออกแบบติดลงไปบนแผ่นสติ๊กเกอร์

3.1.3  ใช้คัตเตอร์กรีดตามรอยของลวดลาย ที่เป็นรอย ตัดระหว่างพื้นที่ ที่ต้อง การให้เกิดสีกับพื้นที่ที่ต้องการให้เป็นช่องว่าง

3.1.4  ลอกกระดาษที่วาดลวดลายออกทั้งหมดให้เหลือเพียงแผ่นสติ๊กเกอร์ที่ถูกตัดตามรอยแล้ว

3.1.5  นำกระดาษกาวปิดทับลงบนรอยตัด ของลวดลาย และดึงสติ๊กเกอร์ส่วนของพื้นที่ ที่ต้องการให้เกิดสีออกจากแผ่นสติ๊กเกอร์

3.1.6  นำสติ๊กเกอร์ที่ดึงออกมาติดลงบนแผ่นใส และ ลอกกระดาษกาวออก เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับถ่ายบล็อกสกรีน เป็นอันเสร็จสิ้นการผลิตต้นแบบ

3.2  การถ่ายบล็อกสกรีน

3.2.1  ผสมกาวอัดและน้ำยาไวแสง ในอัตราส่วน 5:1 เมื่อผสมจนเป็นเนื้อเดียวกันแล้วเทลงบนบล็อกสกรีน


3.2.2  ใช้ยางปาดปาดกาวอัด ให้ทั่วตะแกรงไหมบนบล็อกสกรีน

3.2.3  ใช้ไดร์เป่าผมเป่าลมร้อนจนกว่ากาวอัดจะแห้ง

3.2.4  นำต้นแบบวางลงบนตู้ไฟในลักษณะ Positive และนำบล็อกสกรีนวางทับลงบนต้นแบบ


3.2.5  ใช้ผ้าดำหนาวางคลุมบนบล็อกสกรีนและวางทับ ด้วยวัสดุกด ทับที่แบนเรียบ เช่น หนังสือ กระเบื้องเซรามิก ฯลฯ เพื่อให้ลายต้นแบบแนบติดกับตะแกรงไหม

3.2.6  เปิดไฟเพื่อถ่ายบล็อกสกรีน 3 นาทีโดยประมาณจากนั้นปิดไฟและนำบล็อกสกรีนไปฉีดล้างน้ำ ส่วนที่ไม่ถูกแสงไฟจะหลุดออก ส่วนที่ถูกแสงไฟจะแข็งตัวและติดแน่นกับตะแกรงไหม เกิดเป็นลวดลายตามต้นแบบ

3.2.7  ใช้ไดร์เป่าผมเป่าให้แห้งเป็นอันเสร็จสิ้นการถ่ายบล็อกสกรีน

3.3  การสกรีนสี

3.3.1 นำบล็อกสกรีนติดตั้งบนแท่นสกรีน

3.3.2  วางกระดาษรูปลอกน้ำลงบนแท่นสกรีนและวางบล็อกสกรีนทับ ลงบนกระดาษ แล้วจัดวางกระดาษให้ลวดลายบนตระแกรงไหม อยู่ในกรอบของกระดาษรูปลอกน้ำ เมื่อได้ตำแหน่งจึงใช้กระดาษกาวทำเครื่องหมายทั้งสี่มุมของกระดาษรูปลอกน้ำบนแท่นสกรีน

3.3.3  ผสมผงสีบนเคลือบและมีเดี่ยมในอัตราส่วน 6 : 4 แล้วจึงเทสีสกรีน ลงบนบล็อกสกรีน

3.3.4  ยกบล็อกสกรีนขึ้นอย่าให้ตะแกรงไหมสัมผัสกับกระดาษรูปลอกน้ำ แล้วใช้ยางปาดปาดสีกลบส่วนที่เป็นลวดลายทั้งหมด

3.3.5  วางบล็อกสกรีนให้ตะแกรงไหมทาบลงบนแผ่นกระดาษรูปลอกน้ำ แล้วใช้ยางปาด ปาดสีอีกครั้ง ก็จะเกิดเป็นลวดลายบนกระดาษรูปลอกน้ำ

3.3.6  หลังจากวางตากประมาณ 5 นาทีแล้วจึงนำมาวางบนแท่นสกรีนอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เปลี่ยนใช้บล็อกสกรีนสำหรับสกรีน Cover coat ติดตั้งลงบนแท่นสกรีน

3.3.7  เท Cover Coat ลงบนบล็อกสกรีน

3.3.8  วางทาบลงบนกระดาษรูปลอกน้ำ ที่ผ่านการสกรีนสีแล้วจึงปาด Cover coat ทับ จากนั้นจึงนำไปตากแห้งประมาณ 10 นาที

3.3.9  นำรูปลอกน้ำไปแช่น้ำ ประมาณ 2 นาที หรือจน กว่าจะสังเกตเห็นลายสติ๊กเกอร์เริ่มร่อนออกจากกระดาษรูปลอกน้ำ

3.3.10  จากนั้นจึงนำขึ้น มาติดบนผิวผลิตภัณฑ์ที่ทำความสะอาดแล้ว จัดสติ๊กเกอร์ ให้อยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ รีดน้ำและอากาศออกให้หมด

3.3.11  นำเข้าเตาเผาที่ อุณหภูมิ 800 องศาเซลเซียล เมื่อเตาเผาเย็นที่อุณหภูมิห้องจึง นำชิ้นงานออก จากเตาเผาเป็น อันเสร็จ

บทส่งท้าย

การผลิตรูปลอกเซรามิกด้วยกระบวนผลิตแบบ Silk Screen Printing ในแต่ละขั้นตอนที่ได้อธิบายนั้น ยังมีเนื้อหาและรายละเอียดอื่น ๆ อาทิเช่น หลักการออกแบบ เพื่อให้เกิดความสวยงามสอดคล้องกับประโยชน์ใช้สอยและสามารถผลิตได้ คุณลักษณะและกระบวนการผลิตรูปลอกเซรามิกแต่ละประเภท คุณสมบัติของวัสดุและการใช้งานเครื่องมือประเภทอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง การตรวจสอบคุณภาพในแต่ละขั้นตอนการผลิต ฯลฯ เนื้อหาต่าง ๆ เหล่านี้ต้องค้นคว้าหาความรู้และศึกษาประสบการณ์เพิ่มเติมจึงสามารถผลิตชิ้นงานที่มีคุณภาพ

เอกสารอ้างอิง

ปัญจลักษณ์ หรีรักษ์. เอกสารประกอบการเรียน วิชา การพิมพ์รูปลอกเซรามิก. แผนกวิชาอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผา สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมา , 2542.

วันชัย เพี้ยมแตง. การตกแต่งเครื่องปั้นดินเผาด้วยรูปลอกเซรามิก . กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์ , 2547.

พัฒนาชัย กุลสิริสวัสดิ์. แนะนำอุปกรณ์การพิมพ์ซิลค์สกรีนพร้อมวิธีการใช้. กรุงเทพฯ : บริษัทชัยบูรณ์บราเดอร์ จำกัด, ม.ป.ป.

วิเชียร จิระกรานนท์และนงเยาว์ จิระกรานนท์. การพิมพ์ซิลค์สกรีน. กรุงเทพฯ : ธีระการพิมพ์, 2529.

*********************************

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • Twitter
  • RSS

Leave a Reply


− four = 3